วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

"โหวต" หัวใจ หรือ สมอง

ตอนเราเด็กๆ ผมเป็นคนหนึ่งที่มองเห็นเพื่อนที่พอประกาศผลสอบก็ได้เกรด 4 หรือเป็นที่ 1 ของวิชานั้น วิชานี้ ด้วยความแอบอิจฉาเล็กๆ เพราะเราเรียนไม่ค่อยเก่งซักเท่าไหร่ ว่าแหม สมองเค้าทำมาด้วยอะไรน้อ ต่างจากเราตรงไหน ไมเก่งจัง และเราเหล่านักเรียน ก้อยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือ การเลือกหัวหน้าห้อง ซึ่งสมาชิกของแต่ละห้องก็จะมีวิธีการเลือกที่แตกต่างกัน แต่เคยมั้ย ที่บางครั้ง ก็งงกับตัวเองว่า เอ จะเลือกเพื่อนคนนั้น ที่เรียนเก่งที่สุดดี หรือ เลือกเพื่อนอีกคนที่เป็นที่รักของคุณครู หรือ เลือกเพื่อนที่เรียนธรรมดา แต่แก่นซนหน่อยๆ เพราะแน่ใจว่า ถ้าเพื่อนคุยกันระหว่างคุณครูไม่อยู่ มันคงไม่เอาเรื่องของเราไปฟ้องครู อืมมม เหมือนชีวิตจะมีทางเลือกนะครับ แต่บางครั้งความรู้สึกของใจ กับสภาวะตอนนั้น มันก้อไม่ค่อยสอดคล้องกันซักเท่าไหร่เพราะตอนเลือกหัวหน้าห้อง ครูประจำชั้น มักเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เราไม่สมหวังไปเสียทั้งหมดทีเดียว

รายการเรียลลิตี้โชว์ กับการโหวต เพียงพิมพ์หมายเลขผู้แข่งขันที่คุณชื่นชอบ แล้วส่งไปที่หมายเลข ที่แต่ละรายการกำหนด ก็ไม่ค่อยต่างกับการเลือกหัวหน้าห้อง บางทีนักร้องที่เก่งที่สุด ก็กลับไม่ได้ "ไปต่อ"หรือ"ต้องจากบ้านไปก่อน" เพียงแต่ ไม่มีคุณครูประจำชั้นมาคอยทำตาเขียวใส่เราเวลาเราจะโหวต แค่นั้นเอง ทำให้คนที่ได้ที่ 1 เป็นคนที่ได้รับความนิยม อาจจะไม่ใช่คนที่ร้องเพลงเก่งที่สุด แต่เป็นคนที่เรานิยม หรือ เอ็นดู มากที่สุด แล้วแต่กรณี ต่างหาก หากมองหลังจากการแข่งขันนั้นจบไป ก็จะพบอีกว่า คนที่ได้ที่ 1 มักจะไม่ใช่นักร้องที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกเช่นกัน

นักแสดง ดารา ที่สวย เป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ แต่เอ เวลาที่จะต้องเลือกมาเป็นคู่ครอง หรือ แม่ของลูก กลับกลายเป็นผู้หญิงที่คิดว่า หน้าตาพอควงได้ แต่เข้าใจเรา ไม่ยักจะใช่นักแสดงสาวคนนั้น แต่ด้วยความสวย เซ็กซี่ของเจ้าหล่อน ก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะจับตา คอยติดตามผลงาน และชีวิตส่วนตัว อยากจะรู้นักทีเดียวว่า นักแสดงสาวปานเจ้าหญิงอย่างนั้น จะได้ลงเอย กับ เจ้าชาย คนไหนกัน และอีกเช่นกัน ถ้าเรามาตามติดชีวิตเจ้าหญิงเจ้าชาย หลังภาพการแต่งงานที่สดสวย ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ก็จะพบว่า มันไม่ได้เป็นเหมือน นิทาน ที่เราเคยฟัง "และแล้ว เจ้าหญิงเจ้าชาย ก็รักกันและมีความสุขตลอดไป"

บางครั้ง "การเลือก"หรือ "การถูกเลือก" มันอาจจะไม่สะท้อน ความเป็นจริงของโลกใบนี้ เพราะบางครั้ง เราก็ใช้ "ใจ"และ"ความรู้สึก" ในการเลือก หรือตัดสินใจ ในขณะที่บางครั้ง เราก็ใช้ "สมอง"และ"เหตุผล" ในการเลือกด้วยเช่นกันบางครั้ง ความรู้สึก ก็ให้ "ความสุข" ในขณะที่ เหตุผล ให้ "ความถูกต้อง" อยู่ที่ เราเองต่างหาก ที่ให้น้ำหนักกับสิ่งใดมากกว่ากัน แค่นั้นเอง

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ตั้งหลัก กับ ชีวิตติดสปีด

คนเมือง อยู่ในเมือง ทุกอย่างดูเหมือนจะรวดเร็วไปเสียหมด ยิ่งกับชีวิตติดสปีด ติด wifi ที่ ให้คุณออนไลน์กันได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เหมือนกำลังจะสร้าง และปลูกฝังพฤติกรรมให้เรา คิดเร็ว ทำเร็ว ตัดสินใจเร็ว

"snack culture" เป็นคำที่อธิบายได้ดี และเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (ลองดูจากลิ้งค์นะครับ) อันเป็นผลพวงจากวิถีชีวิต ติดสปีดนี้เอง เป็นวิธีคิดให้ชีวิตเป็นเหมือนขนมถุง เอาเร็ว เอาง่าย เปลี่ยนได้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ อาหารจานด่วน ฟู้ดคอร์ท จนไปกระทั่งถึง เรื่องของกิ๊ก ของแฟน ที่รู้จักกันง่ายๆ ผ่าน hi5 เม้นท์กันไปมาไม่นาน ก้อผันมาเป็นกิ๊ก คบกันง่ายๆ ไม่ถูกใจกันง่ายๆ แล้วก้อเลิกกันอย่างง่ายๆ

ดูเหมือน อัตราเร่งความเร็วในการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน มันจะทำให้คน คิดเร็วขึ้น แต่คิดน้อยลง ความอดทนต่อกันและกันต่ำลง ความสัมพันธ์และความรักกลายเป็นเรื่องเปราะบาง ทั้งหมดนี้เป็นการ trade off ที่ทำให้เราต้องนั่นพิจารณาว่า ควรหรือเปล่าที่บ้างคราว โลกที่หมุนเร็วเกินไปจนหัวใจ และสติของเราวิ่งตามไม่ทัน ก้อน่าจะหันกลับมา ตั้งหลัก และ ตั้งสติ กันซักหน่อย จะได้ไหลตามสปีดของโลกใบนี้ ได้ดีขึ้น เพราะเรายังต้องวิ่งมาราธอน อีกไกลนะครับ